วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557

ตำนานแม่มด

                 
                  พลังพิเศษเวทย์มนตร์คาถาและศาสตร์แห่งความลี้ลับ นับเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของผู้คนทั่วโลกตราบเท่าที่ยังหาข้อพิสูจน์ไม่ได้ นอกจากเรื่องผีสางนางไม้แล้ว ตำนานแม่มดก็เป็นอีกหนึ่งความเชื่อผสมกับจินตนาการและเหตุการณ์จริงบางเรื่องราว ซึ่งไม่มีใครสามารถสรุปเป็นข้อเท็จจริงได้ว่า ภาพยายแก่ หน้าตาน่าเกลียด จมูกงองุ้ม เล็บยาวแหลม สวมชุดดำ ขี่ไม้กวาด และสามารถจะเสกสรรบันดาลให้ทุกสิ่งเป็นไปตามแต่อำนาจเวทย์มนตร์ดำนั้น มีจริงหรืออย่างไร
                เชื่อกันว่า แม่มดเป็นผู้ที่บูชาและรับใช้ซาตานด้วยการเข้าร่วมชุมนุมแซบบัธ(Sabbath) เพื่อเป็นการแสดงตนต่อหน้าซาตาน ในการนี้แม่มดจะต้องมอบเครื่องบรรณาการสีดำแก่ซาตาน อาทิ เทียนไขสีดำ สัตว์ปีกสีดำ รวมถึงจูบแห่งความละอายที่ก้นของซาตานอีกด้วย ตามตำนานยังกล่าวไว้ว่าพิธีกรรมในที่ประชุมนั้นประกอบไปด้วยพิธีลามกอนาจาร รวมไปถึงการร่วมประเวณีอันไม่มีขีดจำกัดด้านเพศเพราะซาตานสามารถจะร่วมสังวาสกับใครก็ได้ ซึ่งนับว่าเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการจัดงานเฉลิมฉลองของบรรดาเหล่าแม่มดและซาตาน
                ภาพลักษณ์ของซาตานปรากฏอยู่ในรูปของชายผิวดำ มีหนวด รูปร่างใหญ่โต หรือในบางครั้งก็อยู่ในรูปของแพะดำพิกลพิการ บ้างก็เป็นคางคกยักษ์บ้างซึ่งล้วนแล้วแต่น่าเกลียดน่ากลัวและน่าขยะแขยง
                ในงานชุมนุมแซบบัธจะมีการเต้นรำอย่างรื่นเริงวนไปรอบๆซาตาน อาจจะเป็นเสาหินรูปลึงค์ แต่เป็นการวนไปรอบๆแบบทวนเข็มนาฬิกาอันเป็นการขัดกับความเชื่อทางศาสนา เพราะโดยทั่วไปการเคลื่อนไหวแบบทวนเข็มนาฬิกานั้นนับเป็นเรื่องอวมงคลและเป็นบาปในยุคนั้น
                หากแต่เมื่อความเคร่งครัดทางศาสนาและความเชื่อต่างๆถูกลืมเลือนไป จึงปรากฏการเคลื่อนไหวทวนเข็มนาฬิกาให้เราเห็น เช่น ในการเต้นลีลาศแบบวอลซ์ เป็นต้น
                ความชั่วร้ายของบรรดาแม่มดและพวกลัทธินิยมซาตานสร้างความตื่นกลัวให้กับชาวยุโรปในช่วงศตวรรษที่15-16เป็นอย่างมาก เหตุเพราะการชุมนุมของแม่มดจำนวนนับล้านในแทบทุกเมืองของยุโรปและสร้างความสั่นคลอนต่อคริสตจักรเป็นอย่างมาก

                นักล่าแม่มดต่างพยายามกำจัดและปราบปรามให้สิ้นซาก แต่แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสักนิดที่จะรู้ว่าใครกันแน่ที่เป็นแม่มดตัวจริง ต่อให้มีการตั้งกฎสำหรับพิจารณาคดีของแม่มดเหล่านั้นแล้วก็ตาม ทว่าบทลงโทษเพื่อให้บรรดาแม่มดสารภาพก็ทำได้แค่ทรมาน แม่มดที่ถูกทรมานก็จะเอ่ยชื่อแม่มดตนอื่นๆตามมาอีก เพื่อตนเองจะได้หลุดพ้นจากการทรมานอันสาหัสนั้น แต่ใครกันจะรู้ได้ว่าผู้ที่ถูกเอ่ยชื่อ หรือแม้กระทั่งผู้เอ่ยชื่อนั้นจะเป็นแม่มดจริงหรือไม่
                การพิจารณาคดีและการพิพากษาแม่มดที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดคือ เหตุการณ์พิพากษาที่ซาเล็ม ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเมืองเดนเวอร์ แมสซาซูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ประมาณศตวรรษที่17 เมืองติตูบา(Tituba)ได้ใช้มายิก(magic)กับลูกสาวและหลานสาวของผู้เป๋นเจ้านายคือบาทหลวงซามูเอล แพรรีส(Samuel Parris)รวมถึงเด็กอื่นๆในหมู่บ้านอีกด้วย
                เธอดูดวงให้กับเด็กๆเหล่านั้นโดยใช้ความรูจากวิชาหมอผีของอินเดียนแดงอันเป็นสิ่งที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษชาวอัฟริกันของเธอ แต่หลังจากนั้นไม่นานเด็กๆที่เคยดูดวงกับติตูบาก็มีอาการประหลาดทั้งชักดิ้นชักงอ หายใจหายคอไม่ออก รวมถึงอาการที่ราวกับมีคนมีอาการป่วยทางจิต ในที่สุดติตูบาก็ถูกบาทหลวงซาม฿เอล แพรรีสจับได้ หลังจากที่เฝ้าดูพฤติกรรมของเธออยู่นาน บาทหลวงโบยตีจนเธอยอมรับสารภาพและยังได้เอ่ยชื่อแม่มดอีก2คนที่ร่วมในการใช้มายิกกับเธอด้วย นั่นคือ ซาร่าห์ กู๊ด(Sarah Good)และซาร่าห์ ออสบอร์น(Sarah Osborne)
                การพิจารณาคดีนี้มีบรรดาเด็กๆเป็นโจทก์ เมื่อจำเลยคนใดเข้ามาในห้องศาล พวกเด็กๆต่างก็แสดงอาการเหมือนผีเข้าขึ้นมาทันที และย้ำเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเธอเป็นแม่มดไล่ลามไปถึง มาธาร์ คอร์รี่(Martha Cory) ซึ่งเป็นคนแรกที่หัวเราะขบขันกับอาการเหมือนผีข้าวของเด็กๆ แม้กระทั่งหญิงชราผู้มีหูพิการอย่างรีเบคก้า เนิร์ส(Rebecca Nurse) เธอได้ผายมือเพื่ออ้อนวอนให้พระเจ้าช่วยเธอ

                                “พระเจ้าช่วยลูกด้วย นี่มันไม่ถูกต้อง ลูกบริสุทธิ์...ชีวิตลูกอยู่ในกำมือท่านแล้ว
                                (Oh Lord, Help me! It is false. I am clear. For my life now lies in your hands)
                แต่แล้วก็สูญเปล่าเมื่อเด็กๆสามารถทำเลียนแบบท่าทางวิงวอนของเธอได้เหมือนทุกประการแม้คณะลูกขุนจะพิจารณาแล้วว่าเธอไม่ผิด แต่วิลเลี่ยม สตรูตัน(Willam Stroughton)หัวหน้าพิพากษาผู้มีใจยืนพื้นอยู่บนความอเมตตาสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ในท้ายที่สุด รีเบคก้า เนิร์สก็ถูกแขวนคอพร้อมกับผู้ที่ได้รับการกล่าวหาคนอื่นๆ ไม่เพียงเท่านี้เด็กๆในซาเล็มยังได้ใส่ความใครต่อใครอีกมากมายนับร้อยคน ซึ่งมีทั้งผู้บริสุทธิ์และน่าสงสัยระคนกัน จากเหตุการณ์นั้นก็ทำให้มีคนถูกจับแขวนคอไปถึง22คน จนกระทั่งไม่ได้รับการยอมรับวิธีพิจารณาคดีเช่นนี้อีกในปี 1693
                ทว่าในศตวรรษที่18 การล่าแม่มดในยุโรป ทำให้มีการฆ่าคนไปประมาณ2แสนคน จากการค้นหาแม่มดด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดำน้ำหรือว่ายน้ำ หากหญิงคนนั้นเป็นแม่มดแล้วก็จะเชื่อกันว่าเธอจะลอยขึ้นมาเหนือน้ำ การค้นหาสัญลักษณ์ของแม่มดหรือซาตานด้วยการเปลื้องผ้าต่อหน้าศาลซึ่งเป็นการยากเหลือเกินที่หญิงทุกคนจะไม่มีเครื่องหมายเหล่านั้น ในเมื่อเครื่องหมายของซาตานหมายถึงจุดด่างพร้อยบนร่างกายไม่ว่าจะเป็นไฝ ปานหรือกระทั่งแผลเป็น
                นอกจากนี้การพิสูจน์ด้วยการแทงเข็มหมุดลงไปที่สัญลักษณ์เหล่านั้น หากไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดหรือไม่มีเลือดไหลก็มีความเป็นไปได้ว่านั่นคือสัญลักษณ์ของซาตาน
                บทลงโทษสุดท้ายของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแม่มดก็คือการถูกเผาทั้งเป็นหรือการแขวนคอแต่ถึงอย่างนั้นพิธีเหล่านี้ได้ถูกต่อต้านและเลิกไปในช่วงปลายศตวรรษนี้เอง
                ประมาณศตวรรษที่ 19-20 ลัทธิซาตานกลับมาอีกครั้งทั้งในยุโรปและอเมริกา พวกที่นับถือซาตานย่อมจะเห็นศาสนาและพระเจ้าเป็นสิ่งชั่วร้าย พวกเขาได้ทำพิธีบูชาซาตานโดยการสังเวยร่างของหญิงสาวนอนทอดกายอยู่บนแท่นบูชาและเปรียบเปรยว่าเป็นสัญลักษณ์ของแม่ธรณี แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปในพิธีกรรมก็คือ การเสพสังวาสกันในหมู่ผู้ถือซาตานนั่นเอง
                เหตุเพราะซาตานต่างเชื่อว่าตนจะมีพลังอำนาจมากขึ้นกว่าเดิมหากได้สั่งให้บรรดาปิศาจไปร่วมสมสู่กับแม่มด ความเชื่อที่ว่าแม่มดจะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากซาตานนั้นจึงเป็นเหตุเป็นผลที่จะทำให้เชื่อได้ว่า แม่มดยอมที่จะสังวาสกับซาตานผู้มีร่างกายอันเยียบเย็นและร่วมมือกันทำลายมวลมนุษย์ไม่ว่าจะด้วยการใช้เวทย์มนตร์ดำนำความตายมาสู่ผู้คนทั้งหญิงและชายหรือปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างการเกิดพายุ แค่เพียงเธอกวนนิ้วลงไปในบ่อน้ำหรือสระน้ำ
ทำไมแม่มดจึงบินได้
                ข้อสงสัยที่ติดอยู่ในใจของคนส่วนมากไม่ใช่แค่เพียงบรรดาเด็กๆแม้กระทั่งผู้ใหญ่โดยทั่วไปก็ต้องการคำอธิบายข้อสงสัยนี้ คำบอกเล่าจากผู้ล่าแม่มดในยุคเก่าเชื่อว่า พวกเธอใช้เนื้อของทารกน้อยมาเป็นส่วนผสมหลักของขี้ผึ้ง ก่อนที่จะเหาะเหินพวกเธอต้องทาขี้ผึ้งนี้ไม่ว่าจะมีไม้กวาดหรือไม่ก็ตาม ไม่มีใครสามารถล่วงรู้ถึงสัดส่วนที่แท้จริงในการทำขี้ผึ้งบินได้ แต่คาดเดากันไปว่าน่าจะมาจากสัตว์และพืชที่มีพิษในตัว อาทิ แมงมุม คางคกหรือจิ้งจก และขี้ผึ้งพิเศษยังช่วยให้พวกเธอได้แปลงเป็นสัตว์เมื่อต้องการหลบหนี
                Johan Weyer(โจแฮน เวเยอร์)ผู้ต่อต้านการไล่ล่าแม่มดในศตวรรษที่16 ได้สันนิษฐานเพิ่มเติมถึงส่วนผสมอื่นๆในขี้ผึ้งซึ่งได้แก่ เลือดค้างคาว ไขมันทารก ขี้เถ้าถ่านหิน ฝิ่นและกัญชา
                สัตว์เลี้ยงของแม่มดที่เราคุ้นตาก็คือแมวดำ อันเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจมือ ความเร้นลับ และอวิชชาแต่ก็มีการบันทึกไว้ว่าสัตว์เลี้ยงของแม่มดที่มักจะมีเพียงตัวเดียวนั้นไม่ได้เจาะจงเฉพาะแมวดำ บางทีมันอาจจะเป็นสัตว์เลี้ยงอื่นใดก็ได้ แล้วแต่ความชื่นชอบ ทั้งนี้ทั้งนั้น การเลี้ยงสัตว์มีพิษหรือสัตว์ที่ไม่สู้จะได้รับความนิยมนั้น ย่อมก่อให้เกิดการเพ่งเล็งจากสายตาคนรอบข้างเป็นธรรมดา หญิงชราในอังกฤษที่ไม่มีคนดูแลต้องเลี้ยงหนูเลี้ยงแมงมุมหรือจิ้งจกเป็นเพื่อน จึงไม่อาจมีทางหลีกเลี่ยงข้อกล่าวหาที่ว่าเธอเป็นแม่มดไปได้อย่างแน่นอน

                สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในจักรวาลล้วนแล้วแต่มีที่มาที่ไป เป็นเรื่องแน่นอน ทว่าจะมีใครสามารถค้นพบไปจนถึงจุดกำเนิดของสรรพสิ่งเหล่านั้นได้อย่างแน่แท้ ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่มีใครสามารถตอบได้ในเวลาอันสั้น ตำนานหรือเรื่องเล่าขานเป็นเพียงคำตอบหนึ่งของผู้ที่ต้องการสนองความอยากรู้ของผู้ที่ใคร่รู้ ส่วนข้อที่จะว่าจะจริงหรือไม่นั้นอยู่ที่การพิสูจน์ ค้นคว้าหาคำตอบต่อไปอย่างที่ไม่มีใครรู้ถึงจุดสิ้นสุดที่แท้จริง

ตำนานลัทธิวูดู

วูดู(Voodoo)มีความหมายถึง พวกหมอผีในไฮติอันเป็นที่มาจากการเรียกขานของบรรดาเจ้าของทาส เดิมทีวูดูเป็นลัทธิทางไสยศาสตร์ของคนแถบหมู่เกาะอินดิสตะวันตก(West Indies) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไฮติซึ่งมีสาวกของลัทธิวูดูอยู่เป็นจำนวนมาก
วูดูมีต้นกำเนิดมาจากพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ของชนพื้นเมืองในแอฟริกาไล่ไปตั้งแต่แกมเบียจนถึงแองโกลา ชาวพื้นเมืองเหล่านี้จะศรัทธาในตัวเทพเจ้าประจำท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ทำให้หมอผีและคนทรงพลอยมีหน้ามีตาเนื่องมาจากการนับถือเทพเจ้าของชาวบ้านเหล่านั้น ในฐานะที่เป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้ากับคนพื้นเมืองนั่นเอง
ย้อนกลับไปที่ยุคล่าอาณานิคม บรรดาหัวหน้าเผ่าของชนพื้นเมืองจำนวนมากได้ขายลูกเผ่าหรือเชลยศึกไปเป็นทาสของชาวตะวันตก ในจำนวนทาสเหล่านี้ก็มีพ่อมดหมอผีติดไปด้วยทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อเป็นที่พึ่งทางใจแก่เหล่าทาสที่พลัดถิ่น ทำให้ความเชื่อและพิธีกรรมของวูดูแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆของโลก โดยเฉพาะโลกใหม่ของโคลัมบัสอันหมายถึงสหรัฐอเมริกาซึ่งนำทาสเข้ามาเป็นพิเศษ

หมอผีในลัทธิวูดูหรือที่เรียกกันว่าโซบ๊อป(Zobop)แท้จริงแล้วไม่ได้มีอำนาจแก่กล้าด้วยตัวเอง แต่พวกเขาจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภูตผีและวิญญาณต่างๆจึงจะสามารถสำแดงฤทธิ์เดชได้เต็มที่ โซบ๊อปพวกนี้เป็นได้ทั้งชายและหญิง และโซบ๊อปแต่ละคนต้องผ่านการฝึกฝนวิชามาอย่างแก่กล้าเสียก่อนจึงจะทำพิธีกรรมต่างๆได้ อำนาจของโซบ๊อปก็เหมือนแม่มดหมอผีในลัทธิมืดอื่นๆคือสำแดงฤทธิ์เดชได้สารพัดประการ เช่น ปลุกคนตายขึ้นจากหลุม เหาะเหินเดินอากาศ เครื่องรางของขลัง ยาแฝดคุณไสย เสกคาถาให้คนตายคาที่ก็สามารถทำได้ ตามตำรากล่าวเอาไว้ว่าโซบ๊อปที่เป็นชายก็คือสามารถแปลงร่างเป็นลูป การู(Loup Garou)หรือยุงผีเมื่อไรก็ได้ตามต้องการ และเจ้ายุงผีพวกนี้ก็ร้ายกว่ายุงทั่วไปเป็นร้อยเท่าพันประการ เพราะมันชอบบินไปดูดเอาชีวิตของเด็กทารกในขณะหลับ โซบ๊อปหญิงเองก็แปลงเป็นยุงผีได้เหมือนกัน แต่มักแปลงไปเองโดยไม่ได้ตั้งใจและไม่สามารถควบคุมได้เหมือนโซบ๊อปชาย
ในหมู่เกาะอินดิสตะวันตกเองนั้น พลังของภูตผีในชุมชนของพวกทาสได้ก่อให้เกิด “เจ้าอีกประเภทหนึ่งขึ้นมาใหม่เรียกว่า โล(Loa) สรณะความเป็นจริงก็คือ ไม่มีใครล่วงรู้ว่า โลแต่ละตนนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร ส่วนผู้รู้จริงก็คือพวกหมอผีในระดับสูงเท่านั้น แต่ก็ใช่ว่าหมอผีระดับสูงเหล่านี้จะบอกกล่าวเรื่องราวทั้งหมดแก่พวกพ่อมดหมอผีทั่วไป เพราะจะเรียกว่าพวกหวงวิชาก็ไม่ผิด เรื่องราวของแต่ละตนจึงจะเป็นที่รู้กันในกลุ่มหมอผีชั้นสูงเท่านั้น
ตามตำนานกล่าวไว้อีกว่าเคยมีการชุมนุมโล หรือเจ้าของพวกวูดูครั้งใหญ่ ซึ่งนำโดยปาปาเลกบาและเมเตอร์ แคร์รีโฟร์ โลที่ถูกอัญเชิญมามีชื่อและองค์แตกต่างกันไป เช่น Amelia(เอมิเลีย),BaZo(บาโซ),Dager Mina(เดเกอร์ ไมนา),Gangan(กังแกง),และErzilie(เออซิลี่ โดยเฉพาะตนสุดท้ายนี้จะช่วยให้มนุษย์เกิดความพิศวาสรัญจวนและเพิ่มตัณหาราคะมากที่สุด
หมอผีจะติดต่อกับโลในการทำพิธีทางไสยศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นจุดประสงค์ร้ายหรือดี หมอผีพวกนี้มีอิทธิพลครอบงำจิตใจของชุมชนชาวไฮติมาก เนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า พวกเขสสามารถบงการภูตผีปิศาจให้กระทำการใดๆได้ตามต้องการ พิธีกรรมในการติดต่อกับโลจะกระทำอย่างปกปิดซ่อนเร้น ว่ากันว่า จะต้องใช้เลือดไก่ขาวปลอดมาทำการเซ่นไหว้ และโลจะปรากฎกายมาตามคำอัญเชิญในร่างของงูพิษ
ในการประกอบพิธีกรรมของวูดู จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในชุมชน เพื่อเอาแรงใจของทุกคนมารวมกันซึ่งก่อให้เกิดพลังอันแรงกล้า และกล่าวกันว่า พลังที่ว่านี้ไม่มีอะไรสามารถมาต่อต้านได้เลยแม้แต่น้อย
เมื่อเสียงกลองของวูดูดังขึ้นในป่ายามราตรีและเห็นแสงไฟวูบวาบวอมแวมลอดผ่านแนวต้นไม้ นั่นหมายถึงชายหญิงทุกคนในหมู่บ้านจะออกมาเต้นรำกันอย่างบ้าคลั่ง ใครที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็จำต้องถอยให้ห่างเข้าไว้ เพราะค่ำคืนนั้นจะเต็มไปด้วยเสียงระงมโหยหวนของโลที่ขานรับคำวิงวอนจากบรรดาหมอผีนั่นเอง

วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

ตำนานมัมมี่


เมื่อพูดถึงมัมมี่ ภาพของร่างที่ถูกพันห่อด้วยผ้าสีขาวก็จะผุดขึ้นมาในสมองของทุกคน และนอกจากนี้มัมมี่ก็นับว่าเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของอียิปต์ด้วย
มัมมี่แห่งอียิปต์เกิดขึ้นเพราะแนวความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายของชาวอียิปต์โบราณ โดยเชื่อกันว่าหลังจากที่เวลาผ่านไปช่วงหนึ่งแล้ววิญญาณของคนตายจะสามารถกลับเข้าสู่ร่างเดิมได้ โดยการกลับมาในลักษณะคล้ายๆกับการกลับชาติมาเกิดในคติความเชื่อของชาวตะวันออกนั่นเอง เพียงแต่การเกิดใหม่ของชาวตะวันออกนั้น เป็นการเกิดใหม่ในลักษณะที่สร้างความทรงจำใหม่พร้อมๆกับมีร่างใหม่ด้วย และตรงนี้นี่เองที่ทำให้แตกต่างจากความเชื่อในเรื่องการเกิดใหม่ของชาวอียิปต์

นอกจากนี้แล้วชาวอียิปต์โบราณยังมีความเชื่อที่ว่าทันทีที่มนุษย์เกิดมาก็จะมีสิ่งที่คอยปกป้องและพิทักษ์จิตวิญญาณซึ่งเรียกว่า คา(Ka) เกิดมาพร้อมๆกันด้วย และหากใครก็ตามที่สูญเสียคาไปก็จะต้องถึงแก่ความตายและก็หมายรวมถึงการสูญเสียคาไปเนื่องจากความตายทางธรรมชาติอีกด้วย แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าคาได้สูญหายไปไหน เพียงแต่จะโลดแล่นและท่องเที่ยวไปในโลกแห่งความตาย เพื่อรอวันเวลาที่จะกลับมาสู่ร่างเดิมต่อไปในอนาคต
คา(Ka) เป็นวิญญาณอันอมตะที่แฝงอยู่ในกายจริง หรือร่างกายที่เราเห็นนั่นเอง และถ้ากายจริงดับหรือตายแล้ว คาก็จะออกจากกายจริงทันที แต่ยังสามารถที่จะคงรูปเหมือนกับกายจริงทุกประการ เพียงแต่ต่างไปตรงที่ร่างกายของคานั้นจะมีลักษณะโปร่งใส มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น และด้วยเหตุนี้ชาวไอยคุปต์บางกลุ่มจึงกล่าวว่าคาเป็นกายทิพย์ที่แยกออกจากกายจริงและยังเป็นพลังงานของชีวิตอีกด้วย
พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ คาเปรียบเสมือนวิญญาณของมนุษย์เรานั่นเอง และแน่นอนว่าวิญญาณของคนก็ต้องมีทั้งวิญญาณที่ดีและวิญญาณที่ชั่วร้าย ซึ่งก็เปรียบเสมือนตัวควบคุมความประพฤติของคนเราให้แสดงออกมาในด้านบวกหรือลบ เพราะมีจิตวิญญาณหรือคาที่ดีหรือร้ายเป็นตัวจริงที่อยู่ในกายเรานั่นเอง
เมื่อเจ้าของร่างต้องเผชิญกับภาวะของความตาย เมื่อนั้นวิญญาณของเขาก็จะต้องออกจากร่างเพื่อไปยังโลกแห่งความตาย ส่วนร่างกายของผู้ตายก็อาจจะเน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา หรือในขณะเดียวกันก็อาจจะมีเรื่องของการถูกเข้าสิงจากวิญญาณร้ายอื่นๆที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ(เหมือนสัมพะเวสีอย่างที่เราเรียกวิญญาณเร่ร่อนและล่องลอยอยู่ในอากาศตามความเชื่อของไทยและเอเชียพุทธ) และด้วยสาเหตุนี้ ชาวอียิปต์จึงได้คิดค้นกลไกและวิธีที่จะรักษาสภาพศพผู้ตายให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อเฝ้ารอการกลับมาของวิญญาณเจ้าของร่างที่แท้จริง และวิธีการที่ดีที่สุดก็คือการทำมัมมี่นั่นเอง

                  คำว่ามัมมี่มีรากศัพท์จากคำว่า มัมมิยะ(Mummiyah) ซึ่งเป็นภาษาของชาวอาหรับ มีความหมายว่า “Body preserved by wax or bitumen” หรือแปลเป็นไทยอย่างง่ายๆก็คือ “ร่างกายที่ดองไว้ด้วยขี้ผึ้งหรือบีทูมิน” ส่วนที่มาของชื่อนี้ก็เกิดขึ้นเพราะความเข้าใจผิดของพ่อค้าชาวอาหรับตั้งแต่สมัยศตวรรษที่12 ด้วยการคิดว่าการดองศพหรือการทำมัมมี่ของชาวอียิปต์นั้นจะต้องใช้บีทูมินเป็นส่วนประกอบสำคัญจึงได้เรียกมัมมี่ว่า มัมมิยะ เพราะโดยความหมายของคำว่ามัมมิยะก็คือบีทูมินในภาษาอาหรับนั่นเอง แต่แท้จริงแล้วบีทูมินได้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการทำมัมมี่ภายหลังจากนั้น
แล้วก็เป็นที่รู้กันว่าในสมัยโบราณนั้น อิทธิพลของวัฒนรรมและศิลปะหลายต่อหลายประการได้แพร่หลาย เพราะพ่อค้าวาณิชที่ต้องเดินทางรอนแรมค้าขายอยู่ทั่วสารทิศและอาจจะเรียกว่าทุกมุมโลกเลยก็ว่าได้ มัมมิยะที่บรรดาพ่อค้ารู้จักและมักจะเอ่ยอ้างถึงยามที่เดินทางไปยังประเทศอื่นๆเพราะความมหัศจรรย์ของมัน จากพ่อค้าสู่พ่อค้า จากปากต่อปาก คนหนึ่งสู่คนหนึ่ง การออกเสียงจึงแปรปลี่ยนไปเป็นมัมมี่อย่างช่วยไม่ได้ แล้วหลังจากนั้นคำว่ามัมมี่จึงกลายเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางแทนที่มัมมิยะอย่างช่วยไม่ได้
ส่วนด้านการทำมัมมี่นั้นจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและเป็นนักบวชโดยเฉพาะและใช่ว่าใครนึกจะทำมัมมี่ก็ทำได้ แต่คนที่มีสิทธิ์จะทำได้ต้องเป็นฟาโรห์และบรรดาขุนนางผู้มั่งคั่งร่ำรวย หรือหากเป็นชาวบ้านทั่วไปถ้ามีความสามารถหาเงินทองมาได้ก็สามารถจะประกอบพิธีนี้ได้เช่นกัน เพราะเนื่องจากการทำมัมมี่แต่ละครั้งนั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายสูงมากๆเอาทีเดียว และนอกจากนี้มัมมี่คนแล้ว ผู้ที่มีเงินทองมั่งคั่งและพิสมัยสัตว์เลี้ยงแสนรักอย่างชนิดที่ว่าเป็นยอดดวงใจก็อาจจะถึงขั้นทำมัมมี่ให้กับสัตว์ตัวนั้นๆทันทีที่มันตายลงเลยทีเดียว แล้วก็ยังรวมถึงมัมมี่ของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น วัว แมวและนกกระสาไอบิสอีกด้วย


ในด้านขั้นตอนการทำมัมมี่จริงๆนั้น จะต้องมีพิธีกรรมทางศาสนามาประกอบด้วยเสมอก็เพราะอย่างที่บอกว่าผู้ประกอบพิธีกรรมได้จะต้องเป็นนักบวชเท่านั้น
หลังจากการตกลงปลงได้ของบรรดาญาติโยมที่จะทำมัมมี่ให้กับศพแล้ว ศพจะถูกลำเลียงมาไว้ยังเตียงชำแหละและนำสมองออกมา โดยการใช้ตะขอเข้าไปเกี่ยวออกมาจากทางโพรงจมูก จากนั้นจะเอาน้ำมันดินที่ต้มเดือดกรอกเข้าไปแทนที่ พอน้ำมันเย็นลงหัวของศพก็จะแข็งได้ที่พอที่จะสามารถควักลูกตาทั้งสองข้างออกมาแล้วใส่ลูกแก้วลงไปแทน

ด้านร่างกาย ผู้เชี่ยวชาญจะใช้มีดหินกรีดข้างลำตัวแล้วลากเอาเครื่องในทั้งหมดออกมา คงเหลือไว้แต่หัวใจและไต เครื่องในของคนตายจะถูกล้างทำความสะอาดอย่างดีด้วยไวน์ที่ทำจากปาล์มและลำตัวที่กลวงจะถูกแทนที่ด้วยน้ำมันดินต้มเดือดอีกเช่นกัน รอยกรีดต่างๆจะถูกเย็บอย่างเรียบร้อย หลังจากนั้นก็ทำความสะอาดแล้วนำไปดองในน้ำเนตรอนซึ่งจะต้องทำการเปลี่ยนน้ำและเนตรอนใหม่ทุกๆสองหรือสามวัน
จากนั้นแล้วดองทิ้งไว้ประมาณ70วันศพจะแห้งสนิท เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกสีน้ำตาลดำ ลักษณะของเส้นผมจะยังคงสภาพเดิม แต่อาจจะถูกสีกัดให้อ่อนจางลงไปเล็กน้อย หากเป็นมัมมี่ผู้ชายจะตัดให้สั้น แต่ถ้าเป็นผู้หญิงจะปล่อยไว้ดังเดิม เมื่อศพแห้งสนิทแล้วก็จะมีการนำผ้าลินินสีขาวซึ่งได้ตัดเตรียมไว้เป็นแถบยาวๆ ลักษณะเหมือนผ้าพันแผล นำมาชุบเรซิ่นให้แข็ง เสร็จแล้วจึงนำมาพันศพ
                และนี่ก็เป็นวิธีการทำมัมมี่และที่มาของมัมมี่อันโด่งดังมาเป็นเวลา3000กว่าปี