เมื่อพูดถึงมัมมี่
ภาพของร่างที่ถูกพันห่อด้วยผ้าสีขาวก็จะผุดขึ้นมาในสมองของทุกคน
และนอกจากนี้มัมมี่ก็นับว่าเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งของอียิปต์ด้วย
มัมมี่แห่งอียิปต์เกิดขึ้นเพราะแนวความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายของชาวอียิปต์โบราณ
โดยเชื่อกันว่าหลังจากที่เวลาผ่านไปช่วงหนึ่งแล้ววิญญาณของคนตายจะสามารถกลับเข้าสู่ร่างเดิมได้
โดยการกลับมาในลักษณะคล้ายๆกับการกลับชาติมาเกิดในคติความเชื่อของชาวตะวันออกนั่นเอง
เพียงแต่การเกิดใหม่ของชาวตะวันออกนั้น
เป็นการเกิดใหม่ในลักษณะที่สร้างความทรงจำใหม่พร้อมๆกับมีร่างใหม่ด้วย
และตรงนี้นี่เองที่ทำให้แตกต่างจากความเชื่อในเรื่องการเกิดใหม่ของชาวอียิปต์
นอกจากนี้แล้วชาวอียิปต์โบราณยังมีความเชื่อที่ว่าทันทีที่มนุษย์เกิดมาก็จะมีสิ่งที่คอยปกป้องและพิทักษ์จิตวิญญาณซึ่งเรียกว่า
คา(Ka) เกิดมาพร้อมๆกันด้วย
และหากใครก็ตามที่สูญเสียคาไปก็จะต้องถึงแก่ความตายและก็หมายรวมถึงการสูญเสียคาไปเนื่องจากความตายทางธรรมชาติอีกด้วย
แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าคาได้สูญหายไปไหน เพียงแต่จะโลดแล่นและท่องเที่ยวไปในโลกแห่งความตาย
เพื่อรอวันเวลาที่จะกลับมาสู่ร่างเดิมต่อไปในอนาคต
คา(Ka) เป็นวิญญาณอันอมตะที่แฝงอยู่ในกายจริง
หรือร่างกายที่เราเห็นนั่นเอง และถ้ากายจริงดับหรือตายแล้ว
คาก็จะออกจากกายจริงทันที แต่ยังสามารถที่จะคงรูปเหมือนกับกายจริงทุกประการ เพียงแต่ต่างไปตรงที่ร่างกายของคานั้นจะมีลักษณะโปร่งใส
มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น
และด้วยเหตุนี้ชาวไอยคุปต์บางกลุ่มจึงกล่าวว่าคาเป็นกายทิพย์ที่แยกออกจากกายจริงและยังเป็นพลังงานของชีวิตอีกด้วย
พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ
คาเปรียบเสมือนวิญญาณของมนุษย์เรานั่นเอง และแน่นอนว่าวิญญาณของคนก็ต้องมีทั้งวิญญาณที่ดีและวิญญาณที่ชั่วร้าย
ซึ่งก็เปรียบเสมือนตัวควบคุมความประพฤติของคนเราให้แสดงออกมาในด้านบวกหรือลบ
เพราะมีจิตวิญญาณหรือคาที่ดีหรือร้ายเป็นตัวจริงที่อยู่ในกายเรานั่นเอง
เมื่อเจ้าของร่างต้องเผชิญกับภาวะของความตาย
เมื่อนั้นวิญญาณของเขาก็จะต้องออกจากร่างเพื่อไปยังโลกแห่งความตาย
ส่วนร่างกายของผู้ตายก็อาจจะเน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา
หรือในขณะเดียวกันก็อาจจะมีเรื่องของการถูกเข้าสิงจากวิญญาณร้ายอื่นๆที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ(เหมือนสัมพะเวสีอย่างที่เราเรียกวิญญาณเร่ร่อนและล่องลอยอยู่ในอากาศตามความเชื่อของไทยและเอเชียพุทธ)
และด้วยสาเหตุนี้
ชาวอียิปต์จึงได้คิดค้นกลไกและวิธีที่จะรักษาสภาพศพผู้ตายให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมที่สุด
ทั้งนี้ก็เพื่อเฝ้ารอการกลับมาของวิญญาณเจ้าของร่างที่แท้จริง
และวิธีการที่ดีที่สุดก็คือการทำมัมมี่นั่นเอง
คำว่ามัมมี่มีรากศัพท์จากคำว่า
มัมมิยะ(Mummiyah) ซึ่งเป็นภาษาของชาวอาหรับ
มีความหมายว่า “Body preserved by wax or bitumen” หรือแปลเป็นไทยอย่างง่ายๆก็คือ “ร่างกายที่ดองไว้ด้วยขี้ผึ้งหรือบีทูมิน” ส่วนที่มาของชื่อนี้ก็เกิดขึ้นเพราะความเข้าใจผิดของพ่อค้าชาวอาหรับตั้งแต่สมัยศตวรรษที่12
ด้วยการคิดว่าการดองศพหรือการทำมัมมี่ของชาวอียิปต์นั้นจะต้องใช้บีทูมินเป็นส่วนประกอบสำคัญจึงได้เรียกมัมมี่ว่า
มัมมิยะ เพราะโดยความหมายของคำว่ามัมมิยะก็คือบีทูมินในภาษาอาหรับนั่นเอง
แต่แท้จริงแล้วบีทูมินได้เข้ามามีบทบาทในกระบวนการทำมัมมี่ภายหลังจากนั้น
แล้วก็เป็นที่รู้กันว่าในสมัยโบราณนั้น
อิทธิพลของวัฒนรรมและศิลปะหลายต่อหลายประการได้แพร่หลาย
เพราะพ่อค้าวาณิชที่ต้องเดินทางรอนแรมค้าขายอยู่ทั่วสารทิศและอาจจะเรียกว่าทุกมุมโลกเลยก็ว่าได้
มัมมิยะที่บรรดาพ่อค้ารู้จักและมักจะเอ่ยอ้างถึงยามที่เดินทางไปยังประเทศอื่นๆเพราะความมหัศจรรย์ของมัน
จากพ่อค้าสู่พ่อค้า จากปากต่อปาก คนหนึ่งสู่คนหนึ่ง
การออกเสียงจึงแปรปลี่ยนไปเป็นมัมมี่อย่างช่วยไม่ได้
แล้วหลังจากนั้นคำว่ามัมมี่จึงกลายเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางแทนที่มัมมิยะอย่างช่วยไม่ได้
ส่วนด้านการทำมัมมี่นั้นจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและเป็นนักบวชโดยเฉพาะและใช่ว่าใครนึกจะทำมัมมี่ก็ทำได้
แต่คนที่มีสิทธิ์จะทำได้ต้องเป็นฟาโรห์และบรรดาขุนนางผู้มั่งคั่งร่ำรวย
หรือหากเป็นชาวบ้านทั่วไปถ้ามีความสามารถหาเงินทองมาได้ก็สามารถจะประกอบพิธีนี้ได้เช่นกัน
เพราะเนื่องจากการทำมัมมี่แต่ละครั้งนั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายสูงมากๆเอาทีเดียว
และนอกจากนี้มัมมี่คนแล้ว
ผู้ที่มีเงินทองมั่งคั่งและพิสมัยสัตว์เลี้ยงแสนรักอย่างชนิดที่ว่าเป็นยอดดวงใจก็อาจจะถึงขั้นทำมัมมี่ให้กับสัตว์ตัวนั้นๆทันทีที่มันตายลงเลยทีเดียว
แล้วก็ยังรวมถึงมัมมี่ของสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เช่น วัว แมวและนกกระสาไอบิสอีกด้วย
ในด้านขั้นตอนการทำมัมมี่จริงๆนั้น
จะต้องมีพิธีกรรมทางศาสนามาประกอบด้วยเสมอก็เพราะอย่างที่บอกว่าผู้ประกอบพิธีกรรมได้จะต้องเป็นนักบวชเท่านั้น
หลังจากการตกลงปลงได้ของบรรดาญาติโยมที่จะทำมัมมี่ให้กับศพแล้ว
ศพจะถูกลำเลียงมาไว้ยังเตียงชำแหละและนำสมองออกมา
โดยการใช้ตะขอเข้าไปเกี่ยวออกมาจากทางโพรงจมูก
จากนั้นจะเอาน้ำมันดินที่ต้มเดือดกรอกเข้าไปแทนที่
พอน้ำมันเย็นลงหัวของศพก็จะแข็งได้ที่พอที่จะสามารถควักลูกตาทั้งสองข้างออกมาแล้วใส่ลูกแก้วลงไปแทน
ด้านร่างกาย
ผู้เชี่ยวชาญจะใช้มีดหินกรีดข้างลำตัวแล้วลากเอาเครื่องในทั้งหมดออกมา
คงเหลือไว้แต่หัวใจและไต
เครื่องในของคนตายจะถูกล้างทำความสะอาดอย่างดีด้วยไวน์ที่ทำจากปาล์มและลำตัวที่กลวงจะถูกแทนที่ด้วยน้ำมันดินต้มเดือดอีกเช่นกัน
รอยกรีดต่างๆจะถูกเย็บอย่างเรียบร้อย หลังจากนั้นก็ทำความสะอาดแล้วนำไปดองในน้ำเนตรอนซึ่งจะต้องทำการเปลี่ยนน้ำและเนตรอนใหม่ทุกๆสองหรือสามวัน
จากนั้นแล้วดองทิ้งไว้ประมาณ70วันศพจะแห้งสนิท
เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกสีน้ำตาลดำ ลักษณะของเส้นผมจะยังคงสภาพเดิม
แต่อาจจะถูกสีกัดให้อ่อนจางลงไปเล็กน้อย หากเป็นมัมมี่ผู้ชายจะตัดให้สั้น แต่ถ้าเป็นผู้หญิงจะปล่อยไว้ดังเดิม
เมื่อศพแห้งสนิทแล้วก็จะมีการนำผ้าลินินสีขาวซึ่งได้ตัดเตรียมไว้เป็นแถบยาวๆ
ลักษณะเหมือนผ้าพันแผล นำมาชุบเรซิ่นให้แข็ง เสร็จแล้วจึงนำมาพันศพ
และนี่ก็เป็นวิธีการทำมัมมี่และที่มาของมัมมี่อันโด่งดังมาเป็นเวลา3000กว่าปี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น